
เหล่าคนเลี้ยงสัตว์เตรียมตัวไว้ กรุงเทพมหานครเตรียมประกาศใช้ข้อบัญญัติใหม่ว่าด้วยการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ เพื่อจัดระเบียบการเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่เมือง ลดปัญหาสัตว์จรจัดในระยะยาว และสร้างความปลอดภัยให้กับชุมชน โดยมีสาระสำคัญดังนี้
หลักเกณฑ์การเลี้ยงสัตว์ตามพื้นที่
ข้อบัญญัติกำหนดจำนวนสัตว์เลี้ยงที่สามารถเลี้ยงได้ตามขนาดพื้นที่ที่อยู่อาศัย เช่น:
อาคารชุดหรือห้องเช่า: พื้นที่ 20–80 ตร.ม. → เลี้ยงได้ไม่เกิน 1 ตัว
พื้นที่มากกว่า 80 ตร.ม. → เลี้ยงได้ไม่เกิน 2 ตัว
ที่ดิน:ไม่เกิน 20 ตร.วา → เลี้ยงได้ไม่เกิน 2 ตัว / 20–50 ตร.วา → เลี้ยงได้ไม่เกิน 3 ตัว / 50–100 ตร.วา → เลี้ยงได้ไม่เกิน 4 ตัว / มากกว่า 100 ตร.วา → เลี้ยงได้ไม่เกิน 6 ตัว

ส่วนใครที่เลี้ยงสุนัขพันธุ์ดุ เช่น พิตบูล, ร็อตไวเลอร์, บูลเทอเรีย ฯลฯ ต้องใส่อุปกรณ์ครอบปากและใช้สายจูงที่มั่นคงแข็งแรงเมื่อออกนอกสถานที่
หากไม่ปฏิบัติตาม เช่น ไม่ใส่อุปกรณ์ครอบปาก หรือไม่ใช้สายจูงที่มั่นคงแข็งแรง) จะเข้าข่าย “สร้างความเดือดร้อนรำคาญ หรือก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่น” ซึ่งมีผลทางกฎหมายตาม พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535
บทลงโทษที่อาจได้รับ ได้แก่:
คำสั่งให้แก้ไข หรือดำเนินการตามที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกำหนดภายในเวลาที่กำหนด หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง อาจถูก ปรับไม่เกิน 10,000 บาท กรณีที่สัตว์ก่อเหตุให้เกิดความเสียหาย อาจถูกฟ้องร้องตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 433 ว่าด้วยความรับผิดของเจ้าของสัตว์
ในกรณีที่มีผู้ได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัส อาจเข้าข่ายความผิด อาญา และมีโทษร้ายแรงยิ่งขึ้น

📍 ฝังไมโครชิปและการจดแจ้ง
สุนัขและแมวทุกตัวต้องฝังไมโครชิปเพื่อระบุเจ้าของ และต้องจดแจ้งกับสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุขสำนักอนามัยภายใน 360 วันหลังข้อบัญญัติประกาศใช้
⚖️ บทลงโทษและการปรับตัว
หากฝ่าฝืนข้อบัญญัติหลังจากระยะเวลาผ่อนผัน 360 วัน เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ซึ่งอาจมีบทลงโทษตามความเหมาะสม
🐾 แนวทางสำหรับผู้เลี้ยงสัตว์เกินจำนวน
หากคุณเลี้ยงสัตว์เกินจำนวนที่กำหนด ควรยื่นขออนุญาตเพิ่มเติมหากต้องการเลี้ยงเพื่อการผสมพันธุ์หรือประกอบธุรกิจ หรือเป็นไปได้ก็พิจารณาหาที่อยู่ใหม่ที่เหมาะสมสำหรับสัตว์เลี้ยงเพิ่มเติม เช่น ส่งต่อให้กับศูนย์พักพิงสัตว์ หรือ หาพื้นที่ใหม่ที่รองรับสัตว์เลี้ยงได้ตามกฎหมาย หรือนอกเขตพื้นที่ หรือ ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการสัตว์เลี้ยงเกินจำนวน
การปฏิบัติตามข้อบัญญัตินี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดปัญหาสัตว์จรจัดและความเดือดร้อนรำคาญจากสัตว์เลี้ยง แต่ยังส่งเสริมความรับผิดชอบของเจ้าของสัตว์เลี้ยงในการดูแลและจัดการสัตว์เลี้ยงอย่างเหมาะสม เพื่อคุณภาพชีวิตของสัตว์เลี้ยงที่ดีไม่เกินกำลังของเจ้าของ ลดปัญหาการทอดทิ้งสัตว์อีกด้วยค่ะ